ดูแลตนเองเมื่อเป็นไข้ออกผื่น
เทคนิคการดูแลตนเองเมื่อเป็นไข้ออกผื่น
คุณผู้อ่านครับ พร้อมๆกับลมหนาวมาเยือนในระยะนี้ ก็ขอให้ระวังว่าลูกหลาน หรือตัวท่านเองอาจไม่สบายเป็นไข้ออกผื่นขึ้นมาได้
จากสถิติการระบาดของโรคพบว่า ในทุกๆปีไข้ออกผื่นมักมีการระบาดในช่วงหน้าแล้งนับตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงประมาณเมษายน ทั้งนี้เป็นเพราะเจ้าเชื้อไวรัสที่เป็นตัวก่อเหตุจะเจริญงอกงามได้ดีในภูมิอากาศแบบนี้นี่เอง
ถ้าหากปะเหมาะเคราะห์ไม่ดี เกิดเป็นไข้ออกผื่นขึ้นมาก็ไม่ต้องตกอกตกใจ เพราะส่วนใหญ่จะไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด คุณผู้อ่านสามารถที่จะตรวจดูอาการด้วยตัวเองได้อย่างง่ายๆ และวิธีการดูแลรักษาก็ไม่ยากเย็นอะไร ขอเพียงแต่ให้มีความรู้เข้าใจในเรื่องนี้ ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้
ข้อน่ารู้เกี่ยวกับไข้ออกผื่น
1. ไข้ออกผื่นในที่นี้หมายถึง อาการเป็นไข้(ตัวร้อน)พร้อมๆกับมีผื่นหรือตุ่มขึ้นตามตัว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในกลุ่มไวรัส ได้แก่ โรคหัด หัดเยอรมัน(เหือด) อีสุกอีใส และส่าไข้ น้อยคนที่อาจเกิดจากการแพ้ยา
2. โรคติดเชื้อในกลุ่มไวรัสดังกล่าวสามารถพบได้ประปรายตลอดทั้งปี แต่จะพบมีการระบาดในเด็กๆตามหมู่บ้านและโรงเรียน ในช่วงฤดูแล้ง ดังเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว
โรคเหล่านี้สามารถติดต่อได้โดยทางลมหายใจ กล่าวคือ โดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน เนื่องจากธรรมชาติของเด็กๆที่ชอบเล่นหัวกันอย่างใกล้ชิด เมื่อมีคนหนึ่งเป็นโรคขึ้นมาก็ไม่แคล้วที่จะแพร่กระจายให้เด็กอื่นๆ อย่างรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง
3. ระยะฟักตัวของโรคเหล่านี้กินเวลาประมาณ 1-3 สัปดาห์ หมายความว่า เมื่อเด็กได้รับเชื้อมาจากคนที่เป็นโรค จะต้องทิ้งช่วงเวลาประมาณ 1-3 สัปดาห์กว่าจะแสดงอาการให้เห็น
4. โรคเหล่านี้แต่ละชนิดเกิดจากเชื้อไวรัสเพียงพันธุ์เดียว เมื่อเป็นแล้วก็จะไม่เป็นซ้ำโรคเดิมอีก เช่น ถ้าเคยออกหัดมาแล้ว ถึงแม้จะติดเชื้อไวรัสหัดมาใหม่ ก็จะไม่มีอาการของหัดอีก เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคจากการเป็นครั้งแรกแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม เด็กคนหนึ่งๆอาจมีโอกาสเป็นหัดเยอรมัน อีสุกอีใส และส่าไข้ในช่วงเวลาต่างๆ แต่เนื่องจากมีลักษณะอาการคล้ายๆกัน จึงอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเด็กออกหัดหลายหนได้
5. ไม่ว่าจะเป็นจากเชื้อไวรัสชนิดใด การดูแลรักษาก็ไม่แตกต่างกันคือ ให้การดูแลรักษาตามอาการก็เพียงพอไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะของแต่ละโรค แม้แต่ยาปฏิชีวนะต่างๆ ก็ไม่มีประโยชน์ในการรักษาโรคเหล่านี้ เพราะยานี้ไม่สามารถใช้ฆ่าเชื้อไวรัสได้ ไข้ออกผื่นเหล่านี้จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นโรคที่เป็นเองหายเองโดยธรรมชาติ
6. ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 5-10 วัน มีเพียงส่วนน้อยที่อาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ซึ่งมักจะเกิดกับคนที่ร่างกายอ่อนแอหรือขาดอาหาร
ถ้าเป็นหัด อาจทำให้เกิดปอดอักเสบ(มีไข้สูงและหายใจหอบ) ท้องเดิน สมองอักเสบ (ซึม ชัก) หูอักเสบ (ปวดหู หูน้ำหนวกไหล) ตาอักเสบ เป็นต้น
หัดเยอรมันอาจทำให้มีโรคแทรกซ้อนเช่นเดียวกับหัดได้ แต่มีโอกาสน้อยกว่าหัดมาก ปัญหาที่สำคัญของหัดเยอรมันก็คือ ถ้าเกิดกับหญิงที่ตั้งครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ แต่ถ้าเกิดกับเด็กๆหรือคนทั่วไป อาการจะไม่รุนแรง และจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์
อีสุกอีใส อาจทำให้ปอดอักเสบ ซึ่งมีโอกาสเกิดในผู้ใหญ่ได้มากกว่าเด็กๆ
ส่วนส่าไข้เป็นโรคที่เกิดกับทารกอายุ 1-2 ขวบ ไม่เกิดกับเด็กโตและผู้ใหญ่ มักจะมีไข้สูงจัดจนเด็กบางคนอาจมีอาการชักเนื่องจากไข้สูงได้
7. ในปัจจุบันมีวัคซีนที่ใช้ฉีดป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมันแล้ว มักจะฉีดให้เด็กตอนอายุประมาณ 1 ขวบ ฉีดเข็มเดียวป้องกันไปได้ชั่วชีวิต ถ้าฉีดตามโรงพยาบาลของรัฐอาจได้ฟรีหรือเสียค่าฉีดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นจึงขอแนะนำให้พาลูกหลานของท่านไปฉีดวัคซีนเหล่านี้เพิ่มเติมจากวัคซีนชนิดอื่นๆ
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นไข้ออกผื่นชนิดใด
เราสามารถสังเกตดูอาการต่างๆเพื่อแยกแยะว่ามีสาเหตุจากอะไร โดยคร่าวๆดังนี้
1. หัด จะมีไข้สูงจัดวันยังค่ำคืนยันรุ่ง (แม้กินยาลดไข้ก็ไม่ค่อยได้ผล) พร้อมกับอาการเป็นหวัดและไอ หน้าแดง ตาแดง หลังมีไข้ประมาณ 3-4 วัน จะมีผื่นแดงๆเล็กๆขึ้นตามหน้าแล้วกระจายไปตามลำตัวและแขนขา ขณะมีผื่นขึ้นก็ยังคงมีไข้สูงต่อไปอีก 1-2 วัน หลังจากนั้นไข้จึงค่อยๆลดลง คนไข้มักจะนอนซมและเบื่ออาหาร มักกินเวลาประมาณ 7-10 วัน กว่าจะหาย
2. หัดเยอรมัน จะมีไข้ไม่สูงนัก ครั่นเนื้อครั่นตัวเป็นพักๆ และมีผื่นแดงๆ เล็กๆ ขึ้นที่หน้า ลำตัว และแขนขา โดยมากจะไม่มีอาการของหวัดหรือไอ คนไข้จะมีอาการไม่ค่อยรุนแรง สามารถกินข้าว วิ่งเล่น เรียนหนังสือ หรือทำงานได้เช่นปกติ
ถ้าใช้นิ้วมือคลำบริเวณข้างคอ หลังคอ และท้ายทอย มักจะได้ก้อนตะปุ่มตะป่ำขนาดเท่าเมล็ดถั่วลิสง ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองที่บวมโตจากโรคนี้ มักจะหายได้ภายในเวลา 5-7 วัน
3. อีสุกอีใส จะมีไข้เป็นพักๆ และมีตุ่มใสๆ ขึ้นที่บริเวณหน้าและคอในวันแรกที่ไม่สบาย ต่อมาจะมีตุ่มใสๆขึ้นกระจายตามลำตัวและแขนขา มักจะมีอาการคันร่วมด้วย ต่อมาตุ่มจะค่อยๆสุก และตกสะเก็ด กินเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์กว่าจะหาย
4. ส่าไข้ พบในเด็ก 1-2 ขวบ จะมีไข้สูงจัดตลอดเวลา (กินยาลดไข้ก็ไม่ได้ผล) นอนซึม และเบื่ออาหารโดยไม่เป็นหวัด จะจับไข้อยู่ประมาณ 3-4 วัน แล้วไข้จะลดลงได้เอง พอไข้ลดจะมีผื่นแดงๆเล็กๆ ขึ้นทั่วตัว ลักษณะแบบผื่นของหัด พอผื่นขึ้นเด็กจะกลับฟื้นคืนเป็นปกติทุกประการ ผื่นมักจะค่อยๆหายไปภายใน 3 วัน
5. แพ้ยา คนที่เป็นไข้หากกินยาแล้วมีอาการแพ้ ก็จะมีตุ่มนูนๆ ขึ้นแบบเดียวกับลมพิษ ซึ่งจะมีอาการคันคะเยอเป็นอย่างมาก บางคนอาจมีอาการบวมคันที่หนังตาและริมฝีปากร่วมด้วย คนไข้มักจะมีอาการหลังกินยา 15-30 นาที พอหมดฤทธิ์ยาผื่นอาจหายได้เอง แต่ถ้ากินยาแบบเดิมอีกก็จะมีผื่นคันเกิดขึ้นได้อีก คนไข้อาจมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้หรือพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคภูมิแพ้อยู่ก่อน ยาที่แพ้ได้ง่ายได้แก่ แอสไพริน เพนิซิลลิน และซัลฟา
วิธีดูแลรักษาด้วยตนเอง
1. ถ้าสงสัยว่ามีสาเหตุจากการแพ้ยา ควรเลิกกินยานั้นๆ ถ้าอาการไม่สบายนั้นเป็นมากก็ควรจะไปปรึกษาแพทย์ อย่ากินยาเองอีกต่อไป
2. ถ้าสงสัยมีอาการรุนแรง เช่น หอบ ชัก ไม่ค่อยรู้ตัว ปวดหู หูอื้อ หูน้ำหนวกไหล ท้องเดินมาก หรือมีเลือดออกจากที่ต่างๆก็ควรจะไปหาแพทย์โดยเร็ว
3. ถ้าแน่ใจว่าไม่มีอาการรุนแรง ก็อาจให้การดูแลรักษาตัวเองดังนี้
• พักผ่อนดื่มน้ำมากๆ กินอาหารที่มีประโยชน์ (เช่น อาหารพวกเนื้อ นม ไข่ เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค) ห้ามอาบน้ำเย็น ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดไข้
• กินยาลดไข้ ถ้ามีไข้สูง ตัวที่แนะนำคือ พาราเซตามอล เด็กกินครั้งละ ¼ ถึง 1 เม็ด ( ½ ถึง 2 ช้อนชา) ผู้ใหญ่ครั้งละ 1 ถึง 2 เม็ด ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง
• ถ้ามีอาการคัน ให้ทายาแก้ผดผื่นคัน (คาลาไมน์โลชั่น) และควรตัดเล็บให้สั้น ป้องกันมิให้เกาจนติดเชื้อที่ผิวหนัง
• ยาปฏิชีวนะไม่ต้องให้ ยกเว้นเมื่อไอ มีเสลดสีเหลืองหรือเขียวหรือตุ่มกลายเป็นหนอง ในกรณีเช่นนี้แนะนำให้ใช้เพนวี หรืออีริโทรมัยซิน สำหรับเด็กให้ครั้งละ ½ ถึง 2 ช้อนชา ผู้ใหญ่ครั้งละ 1 ถึง 2 เม็ด นานประมาณ 7 วัน
ข้อสำคัญ ต้องหมั่นดูอาการอย่างใกล้ชิดทุกวัน ถ้าหากมีอาการเปลี่ยนแปลง ซึ่งชวนให้สงสัยว่าอาจมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น ก็ควรจะไปปรึกษาแพทย์เสียโดยเร็วส่วนการกินยาเขียวในเด็กที่ออกหัดนั้น ไม่มีข้อห้าม จะให้กินควบคู่กับการดูแลตามขั้นตอนข้างต้นก็ไม่ว่ากระไร
สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติก็คือ การงดอาหารพวกเนื้อ นม ไข่ ซึ่งเชื่อกันมาแต่โบราณว่า เป็นของแสลงกับไข้ออกผื่น ความจริงแล้วอาหารเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้คนไข้ จึงควรให้คนไข้กินให้มากขึ้นด้วยซ้ำไป
ข้อสุดท้ายก็คือ ถ้าหากเป็นหัดเยอรมันซึ่งเกิดกับหญิงตั้งครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรก ก็ควรจะไปปรึกษาแพทย์ เพราะทารกในครรภ์อาจได้รับอันตรายได้
ทำนองเดียวกัน หญิงตั้งครรภ์คนใดถ้าหากบังเอิญอยู่ใกล้กับคนที่เป็นหัดเยอรมัน ก็ควรจะไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจดูให้แน่ใจ ไม่ควรละเลยจนเด็กในครรภ์เกิดมาไม่ครบอาการสามสิบสอง